กิจกรรมที่ 1 การชี้แจงความเป็นมาและความสำคัญของโครงการ และสร้างกลไกความร่วมมือระดับพื้นที่แบบมีส่วนร่วมจากภาคีเครือข่าย
คณะนักวิจัยร่วมกับเทศบาลเมืองระนอง จัดเวทีเพื่อเชิญกลุ่มเป้าหมายหลัก จำนวน 80 คน ร่วมรับฟังการชี้แจงความเป็นมาและความสำคัญของโครงการ และกำหนดแนวทางและกระบวนการสร้างกลไกความร่วมมือระดับพื้นที่แบบมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ด้วยการขับเคลื่อนเทศบาลเมืองระนองสู่เมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตของชุมชนเป้าหมายทั้ง 8 ชุมชน ในย่านเมืองเก่าระนอง ประกอบด้วย ชุมชนโรงกลวง ชุมชนตลาดใหม่-เสาแดง ชุมชนพ่อตาขิง ชุมชนตลาดเก่า ชุมชนสะพานยูง ชุมชนเสือป่า ชุมชนตลาดพม่า และชุมชนตลาดล่าง โดยใช้วิธีการจัดประชุมกลุ่มย่อยเพื่อรับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากภาคีเครือข่าย ภายในระยะเวลาเดือนที่ 1 เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ด้านภาคีเครือข่ายความร่วมมือเมืองแห่งการเรียนรู้ จำนวนอย่างน้อย 1 กลุ่ม ได้คณะกรรมการพัฒนาเมือง จำนวนอย่างน้อย 1 คณะ และกลไกความร่วมมือระดับเมืองเชิงพื้นที่แบบมีส่วนร่วม จำนวนอย่างน้อย 1 กลไก
กิจกรรมที่ 2 การศึกษา สำรวจ วิเคราะห์ และคืนข้อมูลของเทศบาลเมืองระนองแบบมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน
คณะนักวิจัยร่วมกับเทศบาลเมืองระนอง ลงชุมชนเป้าหมายทั้ง 8 ชุมชนดังกล่าวในย่านเมืองเก่าระนอง เพื่อสำรวจภาคสนาม การสังเกต การสัมภาษณ์เชิงลึก การเก็บแบบสอบถาม และการสนทนากลุ่มย่อย กับกลุ่มเป้าหมายหลัก จำนวน 80 คน ด้วย “กลไกการจัดการฐานทุนในพื้นที่” ได้แก่ การรับฟังความคิดเห็นและนำฐานทุนทางวัฒนธรรมเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมของชุมชนเป้าหมายมาทำการวิเคราะห์ข้อมูล และคืนข้อมูลพร้อมตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลฐานทุนทั้ง 8 ด้าน ได้แก่ คุณค่าทางสุนทรียศาสตร์ คุณค่าทางประวัติศาสตร์และการศึกษา คุณค่าทางสังคมและความสัมพันธ์กับผู้คน คุณค่าทางจิตวิญญาณ คุณค่าทางสัญลักษณ์ คุณค่าทางเศรษฐกิจ คุณค่าของความแท้ และคุณค่าของบูรณภาพ แล้วนำมาดำเนินการจัดทำแผนที่แหล่งเรียนรู้ ปฏิทินชุมชน ประวัติศาสตร์ชุมชน และการออกแบบระบบฐานข้อมูล ภายในระยะเวลาเดือนที่ 1-3 เพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านฐานข้อมูลทุนทางวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมของเทศบาลเมืองระนอง จำนวนอย่างน้อย 1 ระบบ และได้แผนที่แหล่งเรียนรู้เพื่อเป็นแนวทางการเชื่อมโยงพื้นที่การเรียนรู้ในเมืองเก่าระนอง จำนวนอย่างน้อย 1 แผนที่