Norway

ขั้นตอนการดำเนินโครงการวิจัย

Norway

ขั้นตอนการดำเนินโครงการวิจัย


" จากวัตถุประสงค์ข้อที่ 1 : เพื่อสร้างกลไกความร่วมมือระดับพื้นที่แบบมีส่วนร่วมจากภาคีเครือข่าย ในการยกระดับและขับเคลื่อนเทศบาลเมืองระนองสู่เมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต "
กิจกรรมที่ 1 : การชี้แจงความเป็นมาและความสำคัญของโครงการ และสร้างกลไกความร่วมมือระดับพื้นที่แบบมีส่วนร่วมจากภาคีเครือข่าย
คณะนักวิจัยร่วมกับเทศบาลเมืองระนอง จัดเวทีเพื่อเชิญกลุ่มเป้าหมายหลัก จำนวน 80 คน ร่วมรับฟังการชี้แจงความเป็นมาและความสำคัญของโครงการ และกำหนดแนวทางและกระบวนการสร้างกลไกความร่วมมือระดับพื้นที่แบบมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ด้วยการขับเคลื่อนเทศบาลเมืองระนองสู่เมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตของชุมชนเป้าหมายทั้ง 8 ชุมชน ในย่านเมืองเก่าระนอง ประกอบด้วย ชุมชนโรงกลวง ชุมชนตลาดใหม่-เสาแดง ชุมชนพ่อตาขิง ชุมชนตลาดเก่า ชุมชนสะพานยูง ชุมชนเสือป่า ชุมชนตลาดพม่า และชุมชนตลาดล่าง โดยใช้วิธีการจัดประชุมกลุ่มย่อยเพื่อรับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากภาคีเครือข่าย ภายในระยะเวลาเดือนที่ 1 เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ด้านภาคีเครือข่ายความร่วมมือเมืองแห่งการเรียนรู้ จำนวนอย่างน้อย 1 กลุ่ม ได้คณะกรรมการพัฒนาเมือง จำนวนอย่างน้อย 1 คณะ และกลไกความร่วมมือระดับเมืองเชิงพื้นที่แบบมีส่วนร่วม จำนวนอย่างน้อย 1 กลไก
กิจกรรมที่ 2 : การศึกษา สำรวจ วิเคราะห์ และคืนข้อมูลของเทศบาลเมืองระนองแบบมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน
คณะนักวิจัยร่วมกับเทศบาลเมืองระนอง ลงชุมชนเป้าหมายทั้ง 8 ชุมชนดังกล่าวในย่านเมืองเก่าระนอง เพื่อสำรวจภาคสนาม การสังเกต การสัมภาษณ์เชิงลึก การเก็บแบบสอบถาม และการสนทนากลุ่มย่อย กับกลุ่มเป้าหมายหลัก จำนวน 80 คน ด้วย “กลไกการจัดการฐานทุนในพื้นที่” ได้แก่ การรับฟังความคิดเห็นและนำฐานทุนทางวัฒนธรรมเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมของชุมชนเป้าหมายมาทำการวิเคราะห์ข้อมูล และคืนข้อมูลพร้อมตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลฐานทุนทั้ง 8 ด้าน ได้แก่ คุณค่าทางสุนทรียศาสตร์ คุณค่าทางประวัติศาสตร์และการศึกษา คุณค่าทางสังคมและความสัมพันธ์กับผู้คน คุณค่าทางจิตวิญญาณ คุณค่าทางสัญลักษณ์ คุณค่าทางเศรษฐกิจ คุณค่าของความแท้ และคุณค่าของบูรณภาพ แล้วนำมาดำเนินการจัดทำแผนที่แหล่งเรียนรู้ ปฏิทินชุมชน ประวัติศาสตร์ชุมชน และการออกแบบระบบฐานข้อมูล ภายในระยะเวลาเดือนที่ 1-3 เพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านฐานข้อมูลทุนทางวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมของเทศบาลเมืองระนอง จำนวนอย่างน้อย 1 ระบบ และได้แผนที่แหล่งเรียนรู้เพื่อเป็นแนวทางการเชื่อมโยงพื้นที่การเรียนรู้ในเมืองเก่าระนอง จำนวนอย่างน้อย 1 แผนที่
" จากวัตถุประสงค์ข้อที่ 2 : เพื่อสร้างนิเวศการเรียนรู้ของเมือง ภายใต้ตัวความรู้ กิจกรรมการเรียนรู้ พื้นที่การเรียนรู้ และนักจัดการการเรียนรู้ในเมือง บนฐานนิเวศวัฒนธรรมและวิถีชีวิตชุมชนของเทศบาลเมืองระนอง "
กิจกรรมที่ 3 : การสร้างนิเวศการเรียนรู้ของเมืองภายใต้ตัวความรู้ กิจกรรมการเรียนรู้ พื้นที่การเรียนรู้ และนักจัดการการเรียนรู้ในเมืองแบบมีส่วนร่วมจากภาคีเครือข่าย
คณะนักวิจัยร่วมกับเทศบาลเมืองระนอง จัดเวทีประชุมเพื่อสร้างและกำหนดเป้าหมาย “การสร้างนิเวศการเรียนรู้ของเมือง และพื้นที่การเรียนรู้ในเมือง” โดยเชิญกลุ่มเป้าหมายหลัก จำนวน 80 คน มาร่วมกิจกรรม ภายใต้ “กลไกการจัดการนิเวศการเรียนรู้ของเมือง” ประกอบด้วย (1) การพัฒนากำลังคนเป็น “นักจัดการการเรียนรู้ในเมือง” (หรือนักวิจัยชุมชนท้องถิ่น) จำนวนอย่างน้อย 60 คน ด้วยการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ “การพัฒนานักจัดการการเรียนรู้ในเมือง” พร้อมทั้งกระบวนการวัดประเมินผลทักษะผู้เรียนในรูปแบบต่าง (ตามปัญหาของพื้นที่) เพื่อสร้างกลุ่มคนที่มีองค์ความรู้ด้านการจัดการการเรียนรู้ในเมืองของชุมชนเป้าหมายทั้ง 8 ชุมชนดังกล่าว มาเป็นผู้ขับเคลื่อนนิเวศการเรียนรู้ของเมือง (2) สำรวจ วิเคราะห์ ออกแบบ และพัฒนาสถานที่ที่มีศักยภาพด้วยวิธีการสำรวจและเลือก Learning Core Zone เป็น “พื้นที่การเรียนรู้นำร่อง” ประกอบด้วย ถนนแห่งการเรียนรู้ จำนวน 1 แห่ง พิพิธภัณฑ์มีชีวิต จำนวน 1 แห่ง และศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ จำนวน 1 แห่ง โดยผ่านการสนับสนุนงบประมาณและสถานที่จากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง (3) ศึกษาและจัดทำ “ตัวความรู้” ของแต่ละชุมชนเป้าหมายทั้ง 8 ชุมชนดังกล่าว อย่างน้อยชุมชนละ 1 หลักสูตร/ความรู้ และนำตัวความรู้มาวิเคราะห์ สังเคราะห์ และออกแบบจัดทำเป็นกิจกรรมการเรียนรู้ อย่างน้อยชุมชนละ 1 กิจกรรม สำหรับนำไปใช้ในพื้นที่การเรียนรู้ (4) สร้างกระบวนการขับเคลื่อนระบบนิเวศของการเรียนรู้ตลอดชีวิต ภายใต้กรอบคุณลักษณะที่สำคัญของเมืองแห่งการเรียนรู้ (Key Features of Learning Cities) ของยูเนสโก (UNESCO) ได้แก่ ส่งเสริมการเรียนรู้ตั้งแต่พื้นฐานจนถึงอุดมศึกษา ส่งเสริมการเรียนรู้ในครอบครัวและชุมชน ส่งเสริมการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพในที่ทำงาน ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ส่งเสริมคุณภาพและความเป็นเลิศในการเรียนรู้ และสนับสนุนวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างเข้มแข็ง (5) สร้างแผนการดำเนินงานระบบนิเวศของการเรียนรู้ เพื่อใช้ในการบริหารจัดการนิเวศการเรียนรู้ของเมืองระนอง และรองรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยผ่านการสนับสนุนงบประมาณและสถานที่จากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการที่เกี่ยวข้อง ภายในระยะเวลาเดือนที่ 3-10 เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามที่กล่าวมาข้างต้น และได้แนวทางการสร้างนิเวศการเรียนรู้ตลอดชีวิตของพื้นที่เรียนรู้นำร่องเมืองเก่าระนอง
" จากวัตถุประสงค์ข้อที่ 3 : เพื่อนำองค์ความรู้ที่ได้ไปสร้างคุณค่าและโอกาสให้คนในเมืองด้วยอาชีพจากผลิตภัณฑ์และบริการที่สำคัญของเมืองจากฐานทุนในพื้นที่ สู่การยกระดับเศรษฐกิจท้องถิ่นและคุณภาพชีวิตของคนในเทศบาลเมืองระนองอย่างเป็นรูปธรรม "
กิจกรรมที่ 4 : การสร้างคุณค่าและโอกาสให้คนในเมืองด้วยอาชีพจากผลิตภัณฑ์และบริการที่สำคัญของเมืองแบบมีส่วนร่วมจากภาคีเครือข่าย
คณะนักวิจัยร่วมกับเทศบาลเมืองระนอง จัดเวทีประชุมเพื่อสร้างคุณค่าและโอกาสให้คนในเมือง โดยเชิญกลุ่มเป้าหมายหลัก จำนวน 80 คน มาร่วมกิจกรรม ซึ่งเป็นขั้นตอนการพัฒนากำลังคนในชุมชนเป้าหมายให้เป็น “นักสร้างสรรค์” ด้วย “กลไกการเกิดกิจการเพื่อสังคม” ประกอบด้วย (1) นำฐานข้อมูลทุนทางวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมของเทศบาลเมืองระนองทั้ง 8 ด้านในข้างต้น (2) จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การสร้างทักษะด้านผลิตภัณฑ์ชุมชน” ด้านศิลปะพื้นบ้าน ด้านที่เกี่ยวข้องกับบริบทของทุนทางวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมของเทศบาลเมืองระนอง จำนวนอย่างน้อย 30 คน เพื่อพัฒนากลุ่มคนทุกช่วงวัย กลุ่มคนผู้มีรายได้น้อย กลุ่มเปราะบาง กลุ่มผู้สูงอายุ รวมทั้งนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติในเขตเทศบาลเมืองระนอง (3) พัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์ชุมชน/การบริการ จำนวนอย่างน้อยชุมชนละ 1 รายการ พร้อมด้วยการวิเคราะห์และติดตามผลด้วยวิธีการ ROI และ SROI ตลอดจนการสร้าง Brand ของเมืองแห่งการเรียนรู้ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารทางการตลาด (Marketing Campaign) เข้ามาช่วยสร้างการรับรู้ที่นำไปสู่การ Rebranding City สำหรับการเปลี่ยนแปลงด้านการรับรู้และการยอมรับ (Recognition) ในระดับพื้นที่ รวมทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ และ 4) พัฒนาโปรแกรมประยุกต์บนเว็บ อย่างน้อย 1 ระบบ เพื่อประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ชุมชน/การบริการ และกิจกรรมส่งเสริมการถ่ายทอดองค์ความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่น บนฐานทุนทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์อันดีงาม ภายในระยะเวลาเดือนที่ 10-11 เพื่อให้บรรลุเป้าหมายสร้างคุณค่าและโอกาสให้คนในเมืองระนอง
กิจกรรมที่ 5 : การสรุปและถอดบทเรียนการสร้างกลไกความร่วมมือระดับพื้นที่แบบมีส่วนร่วมจากภาคีเครือข่าย ในการยกระดับและขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้เทศบาลเมืองระนอง
คณะนักวิจัยร่วมกับเทศบาลเมืองระนอง จัดเวทีประชุมเพื่อสรุปและถอดบทเรียน พร้อมทั้งการสร้างนโยบาย หรือแผนแม่บท รวมทั้งการแสดงผลงานวิจัย โดยเชิญกลุ่มเป้าหมายหลัก จำนวน 80 คน มาร่วมกิจกรรม ภายใต้ “กลไกการจัดการเชิงนโยบาย” ได้แก่ (1) ระดมสมองเพื่อสรุปและถอดบทเรียนการสร้างกลไกความร่วมมือระดับพื้นที่แบบมีส่วนร่วมจากภาคีเครือข่าย ในการยกระดับและขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้ฯ (2) จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การจัดทำแผนแม่บทการยกระดับและขับเคลื่อนเทศบาลเมืองระนองเมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต” ซึ่งเป็นขั้นตอนของการสร้างนโยบาย หรือแผนแม่บท (Master Plan) และแผนปฏิบัติการการพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ฯ พร้อมทั้งทำการสำรวจความคิดเห็นต่อแผนแม่บทดังกล่าว จำนวน 400 คน เพื่อนำผลที่ได้มาใช้ในการปรับปรุงแผนแม่บทฯ ให้สอดคล้องและเหมาะสมต่อการยกระดับและขับเคลื่อนเทศบาลเมืองระนองสู่เมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต พร้อมนำเสนอและผลักดันสู่การนำไปใช้จริงของเทศบาลเมืองระนอง และ (3) จัดกิจกรรมแสดงผลงานวิจัย (Learning City Week) เพื่อสื่อสารสร้างความเข้าใจด้านองค์ความรู้และบทเรียนที่ได้จากผลการวิจัย และส่งเสริมการมีส่วนร่วมกับภาคีเครือข่ายและกลุ่มเป้าหมาย