Norway

ความเป็นมา

Norway

ความเป็นมา


" ความเป็นมา "

ปัจจุบันนี้มีนายพินิจ ตันกุล เป็นนายกเทศมนตรีเมืองระนอง โดยได้กำหนดวิสัยทัศน์การพัฒนาเทศบาลเมืองระนองคือ “เป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพชั้นนำ และเมืองน่าอยู่ที่ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีมีความสุข” ภายใต้นโยบายในการบริหารเทศบาลเมืองระนอง ประกอบด้วยนโยบาย 6 ข้อ ได้แก่ (1) นโยบายด้านการเมืองและการบริหาร (2) นโยบายด้านโครงสร้างพื้นฐาน (3) นโยบายด้านการศึกษาและการกีฬา (4) นโยบายด้านสังคมและคุณภาพชีวิต (5) นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ และ (6) นโยบายด้านเศรษฐกิจ ท่องเที่ยว และวัฒนธรรม ซึ่งอยู่ภายใต้ความร่วมมือในการดำเนินงานหรือโครงการที่เกี่ยวข้องระหว่างเทศบาลเมืองระนองกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง (สำนักงานเทศบาลเมืองระนอง, ม.ป.ป.) อย่างไรก็ตาม ผลจากการดำเนินงานวิจัยและงานบริการของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีในจังหวัดระนอง ซึ่งเป็นพื้นที่ให้บริการของมหาวิทยาลัยฯ ร่วมกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่จังหวัดระนองที่ผ่านมา และจากการวิเคราะห์ผลการศึกษาโครงการจัดทำแผนแม่บทและผังแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาบริเวณเมืองเก่าระนอง แผนแม่บทและผังแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาบริเวณเมืองเก่าระนองของสำนักงานจังหวัดระนอง (สำนักงานจังหวัดระนอง, 2562) ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับประเด็นการยกระดับและขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้ และสามารถระบุชุมชนเป้าหมายในย่านเมืองเก่าระนอง จำนวน 8 ชุมชน ประกอบด้วย ชุมชนโรงกลวง ชุมชนตลาดใหม่-เสาแดง ชุมชนพ่อตาขิง ชุมชนตลาดเก่า ชุมชนสะพานยูง ชุมชนเสือป่า ชุมชนตลาดพม่า และชุมชนตลาดล่าง ภายใต้ความโดดเด่นในด้านทุนทางวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม เช่น คุณค่าทางสุนทรียศาสตร์ คุณค่าทางประวัติศาสตร์และการศึกษา คุณค่าทางสังคมและความสัมพันธ์กับผู้คน คุณค่าทางจิตวิญญาณ คุณค่าทางสัญลักษณ์ คุณค่าทางเศรษฐกิจ คุณค่าของความแท้ และคุณค่าของบูรณภาพ เป็นต้น โดยพบว่าชุมชนเป้าหมายดังกล่าวยังคงมีปัญหา (Pain Point) ในการยกระดับและขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้ ได้แก่ (1) ยังขาดการส่งเสริมในด้านกลไกความร่วมมือระดับพื้นที่แบบมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน (2) ยังไม่มีการส่งเสริมและสร้างนิเวศหรือพื้นที่การเรียนรู้ของเมือง (Learning Space) เช่น ถนนแห่งการเรียนรู้ (Learning Street) ตลาดสินค้าท้องถิ่นเพื่อการเรียนรู้ (Local Learning Market) เป็นต้น หรือการยกระดับพิพิธภัณฑ์มีชีวิต (Living Museum) ที่มีอยู่ (3) ยังไม่มีการสกัดตัวความรู้และกิจกรรมการเรียนรู้ ที่จะนำมาสร้างคุณค่าและโอกาสในด้านอาชีพจากผลิตภัณฑ์และบริการที่สำคัญของเมืองจากฐานทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นในพื้นที่

ทั้งนี้ หากมีการแก้ไขปัญหาและสร้างกระบวนการขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้ บนฐานนิเวศวัฒนธรรมและวิถีชีวิตชุมชนของเทศบาลเมืองระนองดังที่กล่าวมาข้างต้น ด้วยการส่งเสริมการสร้างกลไกความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่ายต่าง ๆ และสร้างนิเวศหรือพื้นที่การเรียนรู้ของเมืองระนอง พร้อมกับจัดกิจกรรมหรือโครงการส่งเสริมการเรียนรู้ตามบริบทที่มีอยู่ ควบคู่กับการพัฒนากำลังคนซึ่งเป็นผู้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัย (Key User) จากกลุ่มผู้มีรายได้น้อย กลุ่มคนเปราะบาง กลุ่มผู้สูงอายุ และผู้ประกอบการในชุมชนเป้าหมายทั้ง 8 ชุมชนดังกล่าว ซึ่งยังคงมีความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายภาควิชาการในพื้นที่ ให้เกิดเป็น “นักจัดการการเรียนรู้ในเมือง” แล้วนั้น เป้าหมายปลายทางของการพัฒนาครั้งนี้จะสามารถสร้างโอกาสในการยกระดับเศรษฐกิจท้องถิ่น และคุณภาพชีวิตของคนในเทศบาลเมืองระนองได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน

ดังนั้น ภายใต้บทบาทหน้าที่และต้นทุนเดิมในด้านการทำงานวิจัย นวัตกรรม และงานบริการวิชาการในพื้นที่เทศบาลเมืองระนองอย่างต่อเนื่อง คณะนักวิจัยมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีร่วมกับภาคีเครือข่ายภาควิชาการในพื้นที่มีความประสงค์ดำเนินโครงการวิจัย เรื่อง “การสร้างกลไกความร่วมมือระดับพื้นที่แบบมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ในการยกระดับและขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้ บนฐานนิเวศวัฒนธรรมและวิถีชีวิตชุมชนของเทศบาลเมืองระนอง” ภายใต้ขอบเขตของประเด็นที่จะทำการศึกษา ได้แก่ (1) การสร้างกลไกความร่วมมือระดับพื้นที่แบบมีส่วนร่วมจากภาคีเครือข่าย (2) การสร้างนิเวศการเรียนรู้ของเมือง ด้วยตัวความรู้ กิจกรรมการเรียนรู้ พื้นที่การเรียนรู้ และนักจัดการการเรียนรู้ในเมือง (3) การนำองค์ความรู้ที่ได้ไปสร้างคุณค่าและโอกาสให้คนในเมืองด้วยอาชีพจากผลิตภัณฑ์และบริการที่สำคัญของเมือง สู่การยกระดับเศรษฐกิจท้องถิ่นและคุณภาพชีวิตของคนในเทศบาลเมืองระนอง ผ่านกรอบแนวคิดการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม” (Participatory Action Research : PAR) ด้วยการเชื่อมโยงความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสำคัญและผู้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัย (Stakeholder and User) โดยมี 4 กลไก ในการขับเคลื่อนกระบวนการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ “กลไกการจัดการฐานทุนในพื้นที่” (Local Content Management Mechanism) “กลไกการจัดการเชิงนโยบาย” (Policy Management Mechanism) “กลไกการเกิดกิจการเพื่อสังคม” (Social Enterprise Creation Mechanism) และ “กลไกการจัดการนิเวศการเรียนรู้ของเมือง” (Learning City Ecosystem Management Mechanism) ด้วยการเอาพื้นที่เป็นตัวตั้งและทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายความร่วมมือระดับเมืองทั้ง 4 ภาคี ประกอบด้วย (1) ภาครัฐ ได้แก่ เทศบาลเมืองระนอง วัฒนธรรมจังหวัดระนอง พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดระนอง การท่องเที่ยวและกีฬาสำนักงานจังหวัดระนอง (2) ภาควิชาการ ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ศูนย์การศึกษาจังหวัดระนอง วิทยาลัยชุมชนระนอง สถาบันการศึกษาในสังกัดเทศบาลเมืองระนอง (3) ภาคเอกชน ได้แก่ ผู้ประกอบการ เครือข่ายสมาคมการท่องเที่ยวโดยชุมชนจังหวัดระนอง และสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดระนอง และ (4) ภาคประชาสังคม ได้แก่ กลุ่มคนทุกช่วงวัย กลุ่มคนผู้มีรายได้น้อย กลุ่มเปราะบาง กลุ่มผู้สูงอายุในชุมชนของเทศบาลเมืองระนอง ที่จะนำไปสู่การยกระดับและขับเคลื่อนเทศบาลเมืองระนองสู่เมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างเป็นรูปธรรม